การดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินที่ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์

1.สภาพทั่วไป

ปัจจุบันไม่มีกฎหมายกำหนดสิทธิในการถือครองที่ดินเป็นเหตุให้มีการซื้อที่ดินไว้แล้ว ปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าไม่ทำประโยชน์ อีกทั้งสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้มีอสังหาริมทรัพย์รอการขายและทิ้งร้างเป็นจำนวนมากสำหรับการสำรวจที่ดินที่ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ นั้น กระทรวงมหาดไทยได้มีการสำรวจเป็นประจำทุกปี โดยให้แต่ละจังหวัดรายงานผลการสำรวจให้ทราบภายในเดือนมกราคมของทุกปี

ผลดีของการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน

1. เป็นการเพิ่มผลผลิตทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดการสร้างงาน ส่งผลให้เพิ่มพูนรายได้ หรือลดค่าใช้จ่ายของครอบครัว และท้องถิ่น
2. ก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของท้องถิ่น

3. ป้องกันปัญหาการบุกรุกเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของผู้อื่น

4. เมื่อประชาชนมีรายได้พอเพียง ก็จะส่งผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจสังคม และการเมืองของประเทศโดยรวม

ผลเสียของการทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ในที่ดิน ก่อให้เกิดปัญหาสรุปได้ ดังนี้

1. ปัญหาทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมรายได้ส่วนใหญ่ของประเทศมาจากผลผลิตทางเกษตร การทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์เป็นเหตุให้ไม่มีการเพิ่มผลผลิตทางเกษตร หรือผลผลิตลดลงไม่เพียงพอแก่การอุปโภค บริโภค ส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

2. ปัญหาทางสังคมและการเมือง ด้วยเหตุที่มีการกว้านซื้อที่ดินไว้แล้วไม่ทำประโยชน์ จึงมีผลกระทบถึงประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นเกษตรกร ซึ่งไม่มีที่ดินทำกิน ก่อให้เกิดการบุกรุกเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินที่เจ้าของทอดทิ้ง ก่อให้เกิดปัญหาแย่งชิงที่ดินทำกิน เกิดความไม่สงบสุขภายในสังคม และในกรณีที่มีการเข้าไปบุกรุกแผ้วถางที่ดินของรัฐ ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับประชาชน เป็นปัญหาทางการเมือง

2. กฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง

2.1 มาตรา 6 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน บัญญัติว่า “นับตั้งแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ บุคคลใดมีสิทธิในที่ดินตาม โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หากบุคคลนั้นทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ในที่ดิน หรือปล่อยที่ดินให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า เกินกำหนดเวลาดังต่อไปนี้

(1) สำหรับที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน เกินสิบปีติดต่อกัน

(2) สำหรับที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์เกินห้าปีติดต่อกันให้ถือว่าเจตนาสละสิทธิในที่ดินเฉพาะส่วนที่ทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือที่ปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า เมื่ออธิบดีได้ยื่นคำร้องต่อศาลและศาลได้สั่งเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าว ให้ที่ดินนั้นตกเป็นของรัฐเพื่อดำเนินการตามประมวลกฎหมายนี้ต่อไป

2.2 ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินที่ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าให้ตกเป็นของรัฐ พ.ศ. 2522 ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติไว้สรุปได้ว่า

2.2.1 ให้จังหวัดสำรวจแล้วรายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบ ภายในเดือนมกราคมของทุกปีว่ามีที่ดินแปลงใดถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า

2.2.2 การพิจารณาว่าที่ดินแปลงใดมีผู้ทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า ให้พิจารณาถึงการทำประโยชน์เป็นประการสำคัญ เพียงแต่ล้อมรั้วหรือเสียภาษีบำรุงท้องที่ แต่ไม่ทำประโยชน์ ย่อมถือว่าเป็นการทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า ส่วนที่ดินประเภทใดถือว่าได้ทำประโยชน์แล้ว ให้พิจารณาตามหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์

สำหรับที่ดินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านหรือในเมืองแม้จะยังไม่ได้ปลูกบ้านอยู่อาศัย แต่เจ้าของยังมีเจตนายึดถือเพื่อตนอยู่ ก็ให้ถือว่าที่ดินนั้นเป็นที่ดินที่ได้ทำประโยชน์แล้วโดยสภาพ


2.2.3 เมื่อปรากฏว่ามีที่ดินที่ถูกทอดทิ้งฯ ครบกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 6

- ให้จังหวัดหรืออำเภอแล้วแต่กรณี ทำหนังสือแจ้งเจ้าของที่ดิน และผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ผู้เช่า ผู้รับจำนอง ฯลฯ เพื่อให้เข้าทำประโยชน์ภายใน 3 เดือน นับแต่ได้รับแจ้ง

- หากพ้นกำหนดแล้วไม่ทำประโยชน์ ให้จังหวัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง แล้วทำความเห็นเสนอกรมที่ดิน เพื่อส่งเรื่องให้อัยการฟ้องร้องดำเนินคดีทางศาลต่อไป


2.3 ประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2540 เรื่องขอให้เจ้าของที่ดินที่ทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์รีบเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน


3. มาตรการดำเนินการตามมาตรา 6 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย

กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือเวียนแจ้งให้ทุกจังหวัดทำการสำรวจที่ดินที่ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ และรายงานผลให้ทราบเป็นประจำทุกปี ปรากฏตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0728/ว 3637 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2544

4. แนวทางแก้ปัญหาการทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ในที่ดิน

4.1 มาตรการระยะสั้น

4.1.1 ทำการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ประชาชนทราบมาตรการทางกฎหมาย ตามมาตรา ๖ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อให้ทราบถึงผลดีผลเสียในการใช้ที่ดินหรือทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ในที่ดิน

4.1.2 ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้ได้มาซึ่งที่ดิน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่บันทึกถ้อยคำผู้รับโอนแล้วแต่กรณี ดังนี้

“ที่ดินตามโฉนดนี้ หากทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าเกินสิบปีติดต่อกัน อาจถูกศาลสั่งเพิกถอนให้ตกเป็นของรัฐได้” หรือ “ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์นี้ หากทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าเกินห้าปีติดต่อกัน อาจถูกศาลสั่งเพิกถอนให้ตกเป็นของรัฐได้”

4.2 มาตรการระยะยาว

4.2.1 ปัจจุบันได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งกฎหมายดังกล่าวเป็นมาตรการทางภาษี โดยมีหลักเกณฑ์สรุปได้ว่า เจ้าของที่ดินรายใดได้ทำประโยชน์ในที่ดินของตนแล้วจะเสียภาษีให้รัฐน้อยกว่าเจ้าของที่ดินซึ่งปล่อยให้ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ซึ่งหากพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับจะแก้ปัญหาการทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ในที่ดินได้ทางหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเนื่องจากการควบคุมโดยมาตรการทางภาษี นอกจากจะเป็นการเร่งรัดให้เจ้าของทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว ยังเป็นการป้องกันมิให้มีการกว้านซื้อที่ดินไว้โดยไม่ทำประโยชน์

4.2.2 ขอข้อมูลการตรวจสอบการทำประโยชน์ในที่ดินจากองค์การบริหารส่วนตำบลเนื่องจาก เป็นหน่วยงานที่ต้องตรวจสอบการทำประโยชน์ในที่ดินเพื่อประกอบการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่เป็นประจำทุกปี

-------------------------------
สำนักมาตรฐานการทะเบียนที่ดิน