การขอรังวัดสอบเขตที่ดิน

สิ่งที่เจ้าของที่ดินควรทราบ

1.        ที่ดินที่ครอบครองอยู่มีหลักฐานอะไร ให้นำหลักฐานที่มีไปประกอบการยื่นคำขอ รังวัดที่ดิน

2.        ที่ดินตั้งอยู่ หมู่ที่เท่าใด ตำบล อำเภอ อะไร

3.        เจ้าของที่ดินข้างเคียงเป็นผู้ใดบ้าง ติดที่สาธารณประโยชน์หรือไม่

4.        สภาพที่ดินเป็นอย่างไร เช่น ที่นา ที่สวน ที่ไร่ ที่อยู่อาศัย

 

การยื่นคำขอรังวัดที่ดิน

ยื่นที่สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา หรือสำนักงานที่ดินอำเภอที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ คือ โฉนดที่ดิน ติดต่อที่สำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา ที่ที่ดินนั้น ตั้งอยู่ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ ติดต่อที่สำนักงานที่ดินอำเภอที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ เว้นแต่ ได้มีการยกเลิกอำนาจนายอำเภอ ให้ติดต่อที่สำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา ที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่

 

หลักฐานประกอบการขอรังวัด แบ่งแยก หรือสอบเขต รวมโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์

  1. บัตรประจำตัว ทะเบียนบ้าน ทะเบียนสมรส หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัวชื่อสกุล (ถ้ามี)

  2. โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์

  3. โฉนดที่ดินที่จะขอรวม ต้องมีลักษณะดังนี้

  • ต้องเป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ประเภทเดียวกัน เว้นแต่ โฉนดแผนที่ กับโฉนดที่ดินให้รวมกันได้

  • ต้องมีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในโฉนดที่ดินเหมือนกันทุกฉบับและต้องยังมีชีวิตอยู่ทุกคน

  • ต้องเป็นที่ดินติดต่อผืนเดียวกัน ในจังหวัดและสำนักงานที่ดินเดียวกัน

  • ต้องเป็นที่ดินในจังหวัดเดียวกัน แม้จะต่างตำบล อำเภอก็ให้รวมกันได้ เมื่อรวมโฉนดแล้วให้ถือว่าที่ดินส่วนใดอยู่ในเขตตำบลใดมาก ก็ให้ใช้ตำบลและอำเภอนั้นสำหรับโฉนดที่ดินแปลงใหม่

  • ต้องเป็นที่ดินในเขตสำนักงานที่ดินเดียวกัน

อนึ่ง ในกรณีที่ที่ดินที่จะขอรวมโฉนดมีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมผูกพันอยู่ เช่น จำนอง ขายฝาก เช่า และทรัพยสิทธิอื่น ๆ เช่น สิทธิเก็บกิน ภารจำยอม ฯลฯ เมื่อเข้าหลักเกณฑ์ต่อไปนี้ ก็ให้ทำได้

  1. จะต้องเป็นกรณีที่ภาระผูกพันนั้น ๆ ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมรวมโฉนดไว้ เช่น จำนองรวมโฉนด หรือขายฝากรวมโฉนด เป็นต้น

  2. ต้องได้รับความยินยอมจากคู่กรณีทุกฝ่าย คำยินยอมนี้คู่กรณีจะนำตัวมาบันทึกต่อหน้าเจ้าพนักงาน หรือจะให้คำยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้

  3. โฉนดที่ดินที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมรวมโฉนดไว้ จะขอรังวัดรวมโฉนดทั้งหมดหรือเพียงบางโฉนดก็ให้ทำได้

อนึ่ง ในกรณีรวมโฉนดที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ก็ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับการรวมโฉนดที่ดิน

 

เจ้าของที่ดินประสงค์จะสอบเขตที่ดินหรือตรวจสอบเนื้อที่

ในกรณีผู้มีสิทธิในที่ดินประสงค์จะขอสอบเขตโฉนดที่ดินเฉพาะรายของตน หรือประสงค์จะขอให้ตรวจสอบเนื้อที่ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เฉพาะรายของตน ให้ยื่นคำขอพร้อมด้วยโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ต่อเจ้าพนักงานที่ดินและพนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะไปรังวัดให้

ในการรังวัดสอบเขตหรือตรวจสอบเนื้อที่ ถ้าปรากฏว่าการครอบครองไม่ตรงกับแผนที่หรือเนื้อที่ในโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เมื่อผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียง ที่เกี่ยวข้องได้ลงชื่อรับรองแนวเขต ให้เจ้าพนักงานที่ดินมีอำนาจแก้ไขรูปแผนที่หรือเนื้อที่ให้ตรงกับความเป็นจริงได้ แต่ทั้งนี้จะต้องไม่ใช่เป็นการสมยอมกันเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย เช่น ตัดแบ่งเนื้อที่ดินให้กันโดยไม่ต้องจดทะเบียนการโอน เป็นต้น

ในกรณีที่ผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงได้รับการติดต่อจากพนักงานเจ้าหน้าที่ให้มาระวังแนวเขตแล้ว แต่ไม่มาหรือมาแต่ไม่ยอมลงชื่อรับรองแนวเขตโดยไม่คัดค้านการรังวัด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำหนังสือแจ้งให้มาลงชื่อรับรองแนวเขตหรือคัดค้านการรังวัดโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังผู้มีสิทธิในที่ดินแปลงข้างเคียงตามที่อยู่ที่เคยติดต่อ หรือตามที่อยู่ที่ผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงนั้นได้แจ้งเป็นหนังสือไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือในกรณีที่ไม่อาจติดต่อผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงให้มาระวังแนวเขตได้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ปิดหนังสือแจ้งให้ผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงนั้นมาลงชื่อรับรองแนวเขตหรือคัดค้านการรังวัดไว้ในที่เปิดเผย ณ บริเวณที่ดินของผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงนั้นมาลงชื่อรับรองแนวเขต หรือคัดค้านการรังวัดไว้ในที่เปิดเผย ณ บริเวณที่ดินของผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียง และ ณ ที่ว่าการเขตหรือที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอ ในท้องที่อันเป็นที่ตั้งของที่ดินแห่งละฉบับ พร้อมกับส่งหนังสือแจ้งให้ผู้นั้นมาลงชื่อรับรองแนวเขตหรือคัดค้านการรังวัดทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงตามที่อยู่ที่พนักงานเจ้าหน้าที่สอบถาม ได้ความจากนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น หรือถ้าสอบถามแล้วยังไม่ทราบที่อยู่ของผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงก็ให้ส่งไปยังผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงตามที่อยู่ ที่ปรากฏหลักฐานที่สำนักงานที่ดิน

ถ้าผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงไม่มาลงชื่อรับรองแนวเขต หรือคัดค้านการรังวัดภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้ส่งหนังสือ และผู้ขอได้ให้คำรับรองว่า มิได้นำทำการรังวัดรุกล้ำที่ดินข้างเคียง และยินยอมให้แก้ไขแผนที่หรือเนื้อที่ให้ตรงกับความเป็นจริง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการต่อไปโดยไม่ต้องมีการรับรองแนวเขต

ในการรังวัดสอบเขต ถ้าปรากฏว่ามีผู้คัดค้าน ให้เจ้าพนักงานที่ดินเป็นผู้สอบสวน ไกล่เกลี่ย ไม่ใช่สอบสวนเปรียบเทียบ ให้ถือหลักฐานแผนที่เป็นหลักในการพิจารณา ถ้าตกลงกันได้ให้ดำเนินการไปตามที่ตกลง แต่การตกลงกันนี้จะต้องไม่เป็นการสมยอมกันเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย

ถ้าตกลงกันไม่ได้ ให้แจ้งให้คู่กรณีไปฟ้องต่อศาลภายในกำหนด 90 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ผู้ที่จะฟ้องศาลก็คือ ผู้ที่ขอสอบเขตที่ดินหรือขอตรวจสอบเนื้อที่นั้นเอง ถ้าไม่มีการฟ้องร้องภายในกำหนดดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ขอไม่ประสงค์จะสอบเขตโฉนดที่ดินหรือจะตรวจสอบเนื้อที่ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ต่อไป พนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมยกเลิกคำขอได้

ถ้ามีการฟ้องต่อศาลภายในกำหนด 90 วันและศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว เจ้าพนักงานที่ดินก็จะดำเนินการไปตามคำพิพากษาของศาล

 

คำถาม-คำตอบที่ควรรู้

ถาม คุณแม่มีที่ดินที่มีโฉนด 2 แปลงติดกัน จะโอนให้ลูก ลูกที่รับมรดก จะสามารถ รวมโฉนดได้หรือไม่?

ตอบ การรวมโฉนดที่ดิน โฉนดที่ดินที่ขอรวมต้องประกอบด้วยลักษณะ ดังนี้

1.        ต้องเป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ประเภทเดียวกัน

2.        ต้องมีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในโฉนดที่ดินเหมือนกันทุกฉบับ และยังมีชีวิตอยู่ทุกคน

3.        ต้องเป็นที่ดินติดต่อผืนเดียวกัน ในจังหวัดและสำนักงานที่ดินเดียวกัน แม้จะต่างตำบล อำเภอก็ทำไม่ได้

 

  ที่มา:  กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย

สนใจ ขายที่ดิน คลื๊ก