โฉนดตราจอง คืออะไร?

นอกจากโฉนดที่ดินจะเป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว มาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ยังบัญญัติให้รวมถึง "โฉนดตราจอง" ด้วย

โฉนดตราจอง แต่เดิมก็คือตราจองชั่วคราว ออกตามพระราชบัญญัติตราจองชั่วคราว ร.ศ. 121 ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นพระราชบัญญัติออกโฉนดตราจอง ร.ศ. 124 โฉนดตราจองได้มีการออกเฉพาะในมณฑลพิษณุโลกเดิม ซึ่งได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสุโขทัย จังหวัดพิจิตร จังหวัดพิจิตร และบางส่วนของจังหวัดนครสวรรค์

ตราจองที่ตราว่า "ได้ทำประโยชน์" แล้ว

นอกจากโฉนดที่ดินจะเป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว มาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ยังบัญญัติให้รวมถึง ตราจองที่ตราว่า "ได้ทำประโยชน์แล้ว" ด้วย

ตราจองที่ตราว่า "ได้ทำประโยชน์แล้ว" เป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินเช่นเดียวกับโฉนดที่ดิน โฉนดแผนที่และโฉนดตราจอง ตราจองที่ตราว่า "ได้ทำประโยชน์แล้ว" ออกตามพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พุทธศักราช 2479 โดยผู้ที่ได้รับอนุญาตให้จับจองที่ดินเพื่อเข้าทำประโยชน์ในที่รกร้างว่างเปล่าตามพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พุทธศักราช 2479 และได้รับอนุญาตเป็นตราจอง เมื่อผู้นั้นได้ทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับอนุญาตพอสมควรแก่สภาพของที่ดินภายในระยะเวลา 3 ปี ผู้ที่ได้รับอนุญาตมีสิทธิ มาขอคำรับรองการทำประโยชน์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้นั้นได้ทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับอนุญาตตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ครบถ้วนแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะออกตราจองที่ตราว่า "ได้ทำประโยชน์แล้ว" ให้แก่ผู้นั้น โดยประทับคำว่า "ได้ทำประโยชน์แล้ว" บนตราจองนั้น เพื่อเป็นหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินต่อไป ส่วนผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้จับจองที่ดินเพื่อเข้าทำประโยชน์ในที่ดินรกร้างว่างเปล่าเป็นประเภทใบเหยียบย่ำ เมื่อผู้นั้นได้ทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับอนุญาตพอสมควรแก่สภาพของที่ดินภายในระยะเวลา 2 ปี ผู้ที่ได้รับอนุญาตมีสิทธิมาขอหนังสือรับรองการทำประโยชน์แบบหมายเลข 3 จากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ ซึ่งผู้นั้นจะมีสิทธิเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น

เมื่อประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับแล้ว ก็ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการออกโฉนดแผนที่ โฉนดตราจอง และตราจองที่ตราว่า "ได้ทำประโยชน์แล้ว" ทั้ง 3 ฉบับโดยบัญญัติไว้ใน มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 แต่เพื่อเป็นการรับรองสิทธิของราษฎรผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินอยู่ก่อนแล้ว กฎหมายที่ดินจึงได้บัญญัติครอบคลุมถึง หนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินแบบเก่าด้วย โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497

ที่มา: กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย