หลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) คืออะไร มีวิธีการแจ้งอย่างไร


    มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใข้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 บัญญัติว่า "ให้ผู้ที่ได้ครอบครอง และทำประโยชน์
ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน แจ้งการครอบครองที่ดินต่อ
นายอำเภอท้องที่ ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนด
โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

             การแจ้งการครอบครองตามความในมาตรานี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิขึ้นใหม่แก่ผู้แจ้งแต่ประการใด"

องค์ประกอบของที่ดินที่จะนำมาแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) มีดังนี้

            1. ผู้แจ้งจะต้องได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว
            2. การครอบครองและการทำประโยชน์ จะต้องมีมาก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ คือ ก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2497
            3. ที่ดินที่นำมาแจ้งนั้น จะต้องยังไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน  กล่าวคือ  ยังไม่มีโฉนดที่ดิน  โฉนดแผนที่
โฉนดตราจอง  หรือตราจองที่ตราว่า "ได้ทำประโยชน์แล้ว"
            4. การแจ้งจะต้องแจ้งภายในกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2497 ถ้าไม่แจ้งถือว่าเจตนาสละ
สิทธิครอบครองที่ดิน  เว้นแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะได้มีคำสั่งผ่อนผันให้เป็นการเฉพาะราย

วิธีการแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)

            ระเบียบการแจ้งและรับแจ้งที่ดินที่มีผู้ครอบครองอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ได้กำหนดวิธีการแจ้งและรับแจ้งการครอบครองที่ดินไว้ตามคำสั่งที่ 1244/2497 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2497 ไว้ดังนี้

            1. เมื่อได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินแล้วให้นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ
รีบประกาศให้ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินทราบว่า มีหน้าที่แจ้งการครอบครองที่ดินต่อนายอำเภอท้องที่ภายในกำหนดเวลา
หนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ
            2. ให้นายอำเภอมอบแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (แบบ ส.ค. 1) แก่กำนันเจ้าของท้องที่ประมาณจำนวนให้พอแก่การที่จะใช้
และให้นายอำเภอแนะนำกำนันให้รีบแจกแบบแจ้งแก่ผู้ได้ครอบครองที่ดินอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน
ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน ใช้บังคับโดยเร็ว
            3. แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน   สำหรับที่ดินแปลงหนึ่ง  ให้ทำ 1 ฉบับ  มี  2 ตอน  ตอนที่ 1 สำหรับเก็บไว้ที่อำเภอท้องที่
ตอนที่  2  สำหรับมอบคืนให้แก่ผู้แจ้งไปเป็นหลักฐาน  การมอบคืนให้ผู้แจ้งหรือกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านลงลายมือชื่อรับไว้ในตอนที่ 1 มุมขวาล่าง
พร้อมด้วย  วัน  เดือน  ปี
            4.ถ้าผู้ครอบครองที่ดินไม่ประสงค์จะไปยื่นแบบแจ้งการครอบครองที่ดินด้วยตนเองให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้รับแบบแจ้งการ  
ครอบครองที่ดินจากเจ้าของที่ดิน แล้วรวบรวมส่งอำเภอเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่รับแจ้ง และคืนตอนที่ 2 ให้แล้ว ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นำไป
คืนผู้แจ้งโดยด่วน
            5.เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแบบแจ้งการครอบครองที่ดินแล้วให้ลงรับในช่องเลขที่โดยขึ้นเลขที่1ในหมู่บ้านหนึ่งไปจดหมู่บ้านนั้น
แล้วจึงขึ้นเลขที่ 1 ใหม่ และลงลายมือชื่อ ผู้รับ พร้อมด้วย วัน เดือน ปี ถ้าเป็นที่ดินในเขตเทศบาลให้ขึ้นเลขที่ 1 ในตำบลหนึ่งไปจดหมด
ตำบลนั้น และให้นายอำเภอประทับตราประจำตำแหน่งประจำต่อรอยปรุตรงที่พิมพ์ไว้ว่า "ประทับตรา" ทั้งสองแห่ง
            6. ให้นายอำเภอทำทะเบียนการครอบครองที่ดินขึ้นไว้ตำบลละ 1 เล่ม แบ่งหน้าออกเป็นหมู่บ้านตามจำนวนหมู่บ้านในตำบลนั้น ๆ
ให้พอสมควารกับจำนวนที่ดินในหมู่หนึ่ง ๆ โดยคัดรายการจาก แบบ  ส.ค. 1 มาลงติดต่อกันไป  เรียงลำดับจนหมดจำนวนที่รับแจ้งไว้ตาม
คำอธิบายการกรอกทะเบียนการครอบครองท้ายคำสั่งนี้ ทะเบียนนี้เก็บไว้เป็นหลักฐาน  ณ  ที่ว่าการอำเภอ และให้คัดขึ้นอีกชุด ส่งไปยังกรมที่ดิน
            7. ให้อำเภอทำสารบบเก็บใบแจ้งไว้เป็นรายตำบล โดยเก็บเรียงตามลำดับหมู่บ้าน ตำบลหนึ่งให้แยกเก็บเล่มหนึ่ง ถ้าตำบลใดมีใบแจ้ง
(ส.ค.1) มากเกินสมควร ก็ให้เพิ่มสารบบเล่มต่อไปได้ตามความจำเป็น แล้วเขียนที่ป้ายสันสารบบบอก ชื่อตำบล และหมู่บ้านไว้ให้เรียบร้อย
            8. ในกรณีที่มีผู้ขอแจ้งการครอบครองที่ดินภายหลังกำหนดตามกฎหมายให้นายอำเภอสอบสวนเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณา
เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นสมควรก็ให้มีคำสั่งผ่อนผันเป็นการเฉพาะราย แล้วจึงนำลงทะเบียนการครอบครองที่ดินต่อไป
            9. ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานว่าการแจ้งการครอบครองที่ดินดังกล่าวนั้น มีการผิดพลาดคลาดเคลื่อน ให้นายอำเภอสอบสวนเสนอ
ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาสั่งการเช่นเดียวกันแล้วให้แก้ทะเบียนการครอบครองที่ดินตามกรณี                   

            การแจ้งการครอบครองที่ดิน   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดวิธีการแจ้งการครอบครองที่ดินไว้ ตามประกาศกระทรวง
มหาดไทย   ลงวันที่ 1  ธันวาคม 2497 ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้

            1. ให้ผู้ครอบครองที่ดินแจ้งการครอบครองที่ดินต่อนายอำเภอท้องที่ซึ่งที่ดินตั้งอยู่ด้วยตนเอง หรือ โดยผู้แทน ตามแบบแจ้งการ
ครอบครองที่ดิน แบบ ส.ค. 1 ท้ายประกาศนี้ โดยมีกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านรับรองข้อความว่าถูกต้องตามความจริง
            2. ให้ผู้ครอบครองที่ดินยื่นแบบแจ้งการครอบครองที่ดินแปลงละ 1 ฉบับ   (2 ตอน)
            3. เมื่อนายอำเภอได้รับแจ้งการครอบครองที่ดิน ให้ลงเลขที่รับ แล้วลงลายมือชื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับในแบบ ส.ค. 1 ทั้ง 2 ตอน
และประทับตราประจำต่อ แล้วมอบแบบแจ้ง ตอนที่ 2 ให้แก่ผู้แจ้งไป
            4. การแจ้งการครอบครองที่ดิน ให้แจ้งได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่  29 พฤษภาคม 2498 เป็นอันหมดเขต
            5. เมื่อพ้นกำหนดเวลาแจ้งตามความในข้อ 4. ปรากฏว่าผู้ใดมิได้แจ้งและตนมีเหตุสมควรอันจะขอผ่อนผันให้รับแจ้งการครอบครอง
ให้ยื่นคำร้องต่อนายอำเภอสอบสวนพยานและหลักฐาน แล้วเสนอความเห็นไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อพิจารณาสั่งการ

เหตุใดต้องกำหนดให้เจ้าของที่ดินแจ้งการครอบครองที่ดิน

            เพราะเป็นนโยบายของรัฐอย่างหนึ่งในตอนนั้น เพื่อจะได้ทราบว่านอกจากที่ดินที่ทางการได้ออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์
เช่น  ได้ออกโฉนดที่ดิน โฉนดตราจอง หรือตราจองที่ตราว่า "ได้ทำประโยชน์แล้ว"ให้กับราษฎรไปแล้วนั้น  ยังคงมีที่ดินที่ราษฎร
ได้ครอบครองและทำประโยชน์อยู่  โดยยังไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินจำนวนเท่าใด เพราะถ้าได้ทราบถึงจำนวนของ
ผู้ถือครองที่ดินและจำนวนที่ดินของผู้ที่ยังไม่มี หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินแล้ว รัฐก็จะได้ตัวเลขที่แน่นอนพอสมควรเกี่ยวกับ
ที่ดินที่ราษฎรได้ถือครองอยู่  ทั้งประเภทที่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ และที่ยังไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ว่ารวมแล้ว
เป็นยอดจำนวนเนื้อที่เท่าใด  เมื่อได้จำนวนเนื้อที่การถือครองทั้งหมดแล้ว ทางการก็จะได้ทราบต่อไปอีกว่า ยังมีที่ดินของรัฐอีก
เป็นจำนวนเท่าใด ในจำนวนที่ดินของรัฐทั้งหมดที่ยังไม่มีผู้ใดเข้าถือครอง หรือเข้าครอบครองทำประโยชน์  เมื่อรู้จำนวนที่ถือครอง
จริงแล้ว  เราก็จะได้ทราบถึงจำนวนที่ดินของรัฐที่เหลือว่ายังมีที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่จะนำไปจัดให้แก่ราษฎรหรือว่าจัดหาผลประโยชน์
หรือว่าจัดใช้ประโยชน์ด้วยประการใดก็ตามเป็นจำนวนเท่าใด

แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการหรือไม่

            ในเรื่องนี้ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 890/2509  วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานว่า  การแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) เป็น
เอกสารที่ผู้ครอบครองที่ดินยื่นต่อเจ้าพนักงานเพื่อแสดงว่ามีที่ดินอยู่ในความครอบครองของตนก่อนวันใช้บังคับประมวลกฎหมาย
ที่ดิน  ไม่ใช่เอกสารที่เจ้าหน้าที่ทำขึ้น  การที่เจ้าพนักงานลงเลขรับ  ลงชื่อกำกับ  และประทับตราเป็นการแสดงให้เห็นเพียงว่า
เอกสารนี้ได้ผ่านเจ้าพนักงานแล้วเท่านั้นไม่ทำให้หนังสือแบบแจ้งการครอบครองที่ผู้แจ้งทำกลายเป็นหนังสือที่เจ้าพนักงานทำไปได้
และไม่มีข้อความหรือความหมายเป็นการรับรองหนังสือแจ้งการครอบครองที่ดินแต่อย่างใดตามประกาศประทรวงมหาดไทย
ให้แจ้งการครอบครองที่ดินตามแบบ ส.ค. 1 ต่อนายอำเภอท้องที่โดยมีกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน รับรองว่าข้อความถูกต้องตาม
ความจริงนั้นเป็นเพียงประกาศแจ้งให้ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินก่อนวันใช้บังคับประมวลกฎหมายที่ดิน  ไปแจ้ง
การครอบครองตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามประกาศดังกล่าวแล้วเท่านั้น และเป็นประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ
ให้ผู้แจ้งการครอบครองที่ดินปฏิบัติส่วนหนึ่ง ไม่ใช่เป็นประกาศหน้าที่ของกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน   การที่กำนันผู้ใหญ่บ้านเซ็นชื่อ
รับรองในหนังสือแจ้งการครอบครองเป็นเพียงพยาน ไม่ใช่รับรองว่าหนังสือนั้นเป็นเสมือนหนังสือราชการ 
หนังสือแจ้งการครอบครองที่ดิน  (ส.ค.1)  จึงไม่ใช่เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ