บทความ เรื่อง การจดทะเบียนโอนเป็นที่สาธารณประโยชน์

 

                 ความหมาย  ที่สาธารณประโยชน์  คือ  สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทหนึ่ง  ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  ๑๓๐๔ (หมายถึง ทรัพย์สินของแผ่นดิน  ซึ่งโดยสภาพประชาชน
ทั่วไปมีสิทธิใช้สอยร่วมกันได้  ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด  คือ  ถนนหนทางแม่น้ำลำคลอง  ซึ่งสาธารณชนใช้สัญจร
ไปมาที่สาธารณประโยชน์นั้นอาจเกิดขึ้นได้  ๓  ประการ  คือ

                 เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ  เช่น  แม่น้ำ  ลำคลอง                                         
                
เกิดขึ้นโดยสภาพการใช้  เช่น  ที่เลี้ยงสัตว์  ป่าช้าสาธารณะ
                 เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย  เช่น  การสงวนหวงห้ามตามกฎหมาย  การอุทิศให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ 
ไม่ว่าจะเป็นโดยตรงหรือโดยปริยาย
  เช่น  การอุทิศที่ดินให้เป็นทางสาธารณประโยชน์

                    ผลของการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
 
                 จะโอนแก่กันไม่ได้  เว้นแต่จะอาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา (มาตรา  ๑๓๐๕  แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
                 ๒
ผู้ใดจะยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดินไม่ได้  (มาตรา  ๑๓๐๖  แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)   แต่ในกรณีที่เป็นสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน  ประชาชนย่อมมีสิทธิใช้สอยทรัพย์สิน   แต่ในการใช้สอยจะต้องไม่เป็นการรบกวนสิทธิหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น  การที่เจ้าของ   ที่ดินขึงรั้วลวดหนามรุกล้ำเข้าไปในทางสาธารณประโยชน์  ทำให้ผู้อื่นไม่สามารถใช้รถยนต์บรรทุกผ่านไปมาได้ตามปกติ  ถือว่าผู้ขึงรั้วลวดหนามได้กระทำละเมิด  ต้องใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ที่ไม่สามารถใช้รถยนต์บรรทุกผ่านเข้าออกทางสาธารณประโยชน์ได้
                 ๓
จะยึดเพื่อการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลไม่ได้  (มาตรา  ๑๓๐๗  แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แม้ขณะยึดจะไม่ทราบว่าเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน  ก็ไม่ทำให้การยึดนั้นมีผลต่อแผ่นดินได้  การยึดนั้นไม่มีผลทางกฎหมายแต่อย่างใด 
                
ที่ดินที่เป็นของเอกชนจะเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันได้  เช่น  ทางสาธารณะ   ก็โดยการอุทิศ  ซึ่งการอุทิศที่ดินให้เป็นทางสาธารณประโยชน์นั้นไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้โดยตรงว่า  การอุทิศมีวิธีการอย่างไร  แต่มีกฎหมายจารีตประเพณีว่า  ถ้าเจ้าของที่ดินอุทิศที่ดินของตนให้เป็นทางสาธารณประโยชน์แล้ว  ที่ดินตามที่อุทิศก็กลายเป็นที่สาธารณประโยชน์ไป  โดยไม่ต้องกระทำพิธีการอย่างใด  และแม้จะไม่ได้ทำการจดทะเบียนก็ตาม  ปัญหาว่า  จะมีการอุทิศให้เป็นทางสาธารณประโยชน์หรือไม่  เป็นข้อเท็จจริง  การอุทิศอาจเป็นการอุทิศโดยตรง  เช่น  เจ้าของที่ดินทำหนังสือแสดงเจตนาต่อนายอำเภอหรือเทศบาลอุทิศที่ดินของตนให้เป็นทาง    หรืออาจเป็นการอุทิศโดยปริยายก็ได้   โดยการที่เจ้าของที่ดินยอมให้  สาธารณชนใช้สอยที่ดินในฐานะเป็นทางสาธารณประโยชน์จนเห็นได้ว่าเจ้าของที่ดินมีเจตนาอุทิศแล้ว  กล่าวคือ  เจ้าของที่ดินไม่ได้แสดงว่าที่ดินส่วนที่เป็นทางนั้นตนยังครอบครองอยู่   มีข้อสังเกตว่าการอุทิศต่างจากการยอมให้ผู้อื่นใช้สอยทางนั้นโดยเจ้าของยังสงวนสิทธิอยู่  เช่น  เจ้าของที่ดินปักป้ายว่า  “ทางส่วนบุคคลขอสงวนสิทธิ”  กรณีเช่นนี้แม้ประชาชนจะใช้สอยทางนี้มานานเท่าใดก็ไม่มีทางที่จะทำให้ที่ดินนั้นเป็นทางสาธารณประโยชน์ได้  แต่ในทางกลับกันดังได้กล่าวแล้วว่า   แม้ไม่จดทะเบียนการโอนอย่างเอกชนทั่วไป  ที่ดินก็เป็น สาธารณประโยชน์แล้ว  ถ้าเจ้าของแสดงเจตนาอุทิศ  และการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน  ย่อมเป็นโดยสภาพการใช้  ดังเช่น  คำพิพากษาฎีกาที่  ๘๔๓/๒๕๒๓ การอุทิศที่ดินให้เป็นทางสาธารณประโยชน์เป็นการสละที่ดินให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน  ตามมาตรา ๑๓๐๔  แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ไม่จำเป็นต้องทำพิธีจดทะเบียนอย่างโอนให้แก่เอกชน  แม้เป็นที่ดินมีโฉนด  หากเจ้าของที่ดินนำที่ดินไปขาย  ผู้ซื้อก็ไม่ได้สิทธิในที่ดินส่วนที่อุทิศให้เป็นทางสาธารณประโยชน์แล้ว  ซึ่งแสดงให้เห็นว่า  การเป็นทางสาธารณประโยชน์ย่อมเป็นโดยสภาพการใช้   แม้ไม่ปรากฏหลักฐานทางทะเบียนก็ตาม                               
              
แนวทางปฏิบัติกรณีที่มีผู้อุทิศที่ดินให้กับทางราชการ  หรือจะให้ทางราชการเข้าไปดำเนินการเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ร่วมกัน    กรณีอุทิศที่ดินให้แก่ทางราชการโดยไม่ปรากฏหลักฐานอ้างอิงนั้น  มักจะเกิดปัญหาเมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นอยู่เสมอ ๆ ว่าแท้จริงแล้วมีการอุทิศกันจริงหรือไม่   ดังนั้น  เพื่อให้การปฏิบัติ เกี่ยวกับการจัดให้มีเอกสารหลักฐานที่ชัดเจนในกรณีที่ทางราชการขอให้ราษฎรอุทิศที่ดินให้    หรือกรณีเข้าไป ดำเนินการในที่ดินของเอกชน  หรือกรณีราษฎรแสดงความประสงค์จะอุทิศที่ดินเป็นไปด้วยความเรียบร้อย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติอนุมัติแนวทางปฏิบัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอและกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือ  ที่  มท  ๐๗๒๓/ว ๒๒๕๑   ลงวันที่  ๑๐  สิงหาคม  ๒๕๔๔    แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดถือปฏิบัติแล้วว่า  กรณีที่ทางราชการขอให้ราษฎรอุทิศที่ดินให้  หรือกรณีเข้าไปดำเนินการในที่ดินของเอกชน  เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ร่วมกัน  ให้ดำเนินการดังนี้
               ๑
กรณีที่มีผู้อุทิศที่ดินให้กับทางราชการ  หรือจะให้ทางราชการเข้าไปดำเนินการเพื่อให้มีการใช้ ประโยชน์ร่วมกัน  ให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนั้น  ซึ่งได้รับอุทิศที่ดินจากราษฎรหรือเข้าไปดำเนินการในที่ดินเอกชน  จัดทำหนังสือแสดงความประสงค์เกี่ยวกับการอุทิศที่ดินให้กับทางราชการหรือยินยอมให้ทางราชการเข้าไปดำเนินการ  โดยให้มีรายละเอียดดังนี้
                    ๑
.  ที่ดินที่จะอุทิศให้กับทางราชการหรือจะให้ทางราชการเข้าไปดำเนินการ  ต้องเป็นที่ดินที่    เจ้าของที่ดินมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินนั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย  หากที่ดินนั้นมีภาระผูกพันให้    เจ้าหน้าที่แจ้งให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบ
                   ๑
.  ให้เจ้าหน้าที่จัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับการอุทิศที่ดิน  พร้อมแผนที่แสดงขอบเขตและเนื้อที่ของที่ดินที่จะอุทิศ  หรือยินยอมจะให้ทางราชการเข้าไปดำเนินการ  แล้วให้เจ้าของที่ดินและผู้มีหน้าที่ ดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์ลงชื่อรับรองไว้เป็นหลักฐานต่อหน้าพยาน    ในกรณีมีเอกสารสิทธิตามประมวล กฎหมายที่ดินให้สำเนาประกอบเรื่องไว้ด้วย
               ๒
ารจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับการอุทิศดังกล่าว  ให้จัดทำ ๔  ชุด  มีข้อความและรายละเอียด    ถูกต้องตรงกันเก็บไว้ที่หน่วยงานของเจ้าหน้าที่   เจ้าของที่ดิน  หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรักษา              ที่สาธารณะตามกฎหมาย  และสำนักงานที่ดินท้องที่  แห่งละ ๑ ชุด
              
               
การจดทะเบียนโอนเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือแบ่งหักที่สาธารณประโยชน์ 
              
หากเจ้าของที่ดินมีเจตนาอุทิศที่ดินให้เป็นทางสาธารณประโยชน์โดยตรง  เช่นให้เป็นทางสาธารณะ  และประสงค์จะให้มีการจดทะเบียนด้วย  ก็ต้องนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินไปยื่นคำขอจดทะเบียนต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่  ณ สำนักงานที่ดิน  โดยต้องนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินและหลักฐานอื่น ๆ  ที่เกี่ยวข้อง  เช่น  บัตรประจำตัวเจ้าของที่ดิน  ฯลฯ  หากต้องการให้ที่ดินเป็นทางสาธารณประโยชน์ทั้งแปลง  ก็จดทะเบียนประเภท  “โอนเป็นที่สาธารณประโยชน์”  เมื่อได้จดทะเบียนโอนเป็นที่สาธารณประโยชน์แล้ว  หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินฉบับเจ้าของที่ดินจะไม่คืนให้เจ้าของที่ดิน    พนักงานเจ้าหน้าที่จะเก็บหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินฉบับ     เจ้าของที่ดินเข้าสารบบของสำนักงานที่ดิน  หากเป็นการแบ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์บางส่วน  ก็จะจดทะเบียนในประเภทแบ่งหักที่สาธารณประโยชน์”  โดยต้องทำการรังวัดแบ่งแยกส่วนที่เป็นทางสาธารณประโยชน์ออกไป  เมื่อจดทะเบียนแบ่งหักที่สาธารณประโยชน์เรียบร้อยแล้ว   พนักงานเจ้าหน้าที่จะคืนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้เจ้าของที่ดินไป   ในกรณีที่ส่วนที่เป็นทางที่เจ้าของที่ดินประสงค์จะแบ่งหักออกไปนั้นอยู่ตอนกลางที่ดิน  ทำให้แยกที่ดินออกจากกันเป็นหลายแปลง   นอกจากจะขอจดทะเบียนแบ่งหักเป็น  ที่สาธารณประโยชน์แล้ว  ควรจะต้องขอจดทะเบียนแบ่งแยกในนามเดิมเพิ่มเติมด้วย  เพื่อให้ที่ดินแต่ละส่วนมีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินประจำแต่ละแปลง
           
สำหรับการขอโอนหรือแบ่งหักที่ดินของผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถให้เป็นทางสาธารณประโยชน์  ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์หรือผู้อนุบาลของคนไร้ความสามารถต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน  จึงจะจดทะเบียนโอนหรือแบ่งหักที่ดินของผู้เยาว์และคนไร้ความสามารถให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ได้                         
              
ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียน
           
การจดทะเบียนโอนเป็นที่สาธารณประโยชน์  หรือแบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์นี้  หากเป็นการโอนหรือแบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือไม่มีเงื่อนไขที่ต้องให้ทางราชการปฏิบัติตอบแทนแล้ว  อยู่ในความหมายว่าเป็นการบริจาคให้แก่ทางราชการ  จึงได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนตามนัยมาตรา  ๑๐๓  ทวิ  แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน  ในกรณีที่เป็นการแบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์  และจะต้องมีการรังวัดที่ดิน  ก็ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมในการรังวัดด้วย   แต่ในกรณีที่เป็นการโอนเป็นที่สาธารณประโยชน์   หรือแบ่งหักที่สาธารณประโยชน์มีค่าตอบแทน  หรือมีเงื่อนไขให้ทาง  ราชการต้องปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการตอบแทน ไม่ถือว่าเป็นการบริจาคให้แก่ทางราชการ  และจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนร้อยละ    ของราคาประเมินทุนทรัพย์ตามที่คณะกรรมการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์กำหนด
              
              
การสิ้นสภาพของการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
                
  สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันนี้  จะสิ้นสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเมื่อได้เลิกใช้โดยเด็ดขาด  และได้มีกฎหมายถอนสภาพที่ดินจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว  แต่ถ้าเพียงแต่เลิกใช้ชั่วคราว  โดยมีเหตุให้ไม่ได้ใช้เพียงชั่วคราวก็ไม่ทำให้สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นหมดสภาพไปไม่  เช่น  ทางสาธารณในฤดูฝนน้ำท่วมใช้ไม่ได้ชั่วคราว  ก็หาทำให้ทางสาธารณะนั้นสิ้นสภาพจากการเป็นทางสาธารณะไปไม่
                  
              
ปัญหา?
                  
มีเรื่องที่เกี่ยวกับทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่  และมักเกิดปัญหาอยู่เป็นประจำคือ  กรณีที่ที่ดินมีทาง สาธารณประโยชน์  อาจเป็นทางสาธารณประโยชน์ที่เจ้าของที่ดินเดิมได้อุทิศให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันมานานแล้วแต่ไม่มีการจดทะเบียนเป็นหลักฐาน   ครั้นเวลาผ่านไปนานเข้าและมีการโอนที่ดินต่อ ๆ กันมา  ต่อมา เจ้าของที่ดินคนปัจจุบันประสงค์จะทำการรังวัดสอบเขตหรือแบ่งแยกที่ดินเป็นแปลงย่อย  และได้ไปยื่นคำขอรังวัดสอบเขตหรือแบ่งแยกต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  กรณีนี้กรมที่ดินได้วางทางปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่ที่ดินถือปฏิบัติว่า
                   ๑
ให้แนะนำเจ้าของที่ดินผู้ขอรังวัดนำรังวัดแบ่งแยกหรือกันเขตทางสาธารณประโยชน์ออกโดยการแบ่งหักเป็นทางสาธารณประโยชน์
                   ๒
หากผู้ขอรังวัดไม่ยอมแบ่งหักเป็นทางสาธารณประโยชน์  โดยอ้างว่าไม่ใช่ทางสาธารณประโยชน์ ให้บันทึกถ้อยคำของผู้ขอและให้งดทำการรังวัดไว้ก่อน  แล้วทำหนังสือสอบถามไปยังผู้ดูแลรักษาว่า  ทางในที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นทางสาธารณประโยชน์หรือไม่  ถ้าได้รับการยืนยันว่าเป็นทางสาธารณประโยชน์  ให้แจ้งผู้ขอทราบเพื่อนำทำการรังวัดแบ่งหักเป็นทางสาธารณประโยชน์   แต่ถ้าผู้ขอรังวัดไม่ยอมนำรังวัดแบ่งหักเป็นทาง สาธารณประโยชน์ก็ให้บันทึกถ้อยคำไว้ แล้วงดดำเนินการ   เหตุที่กรมที่ดินได้วางทางปฏิบัติเช่นนี้  เนื่องจาก  ทางสาธารณประโยชน์เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน  และผลของการเป็น สาธารณสมบัติของแผ่นดินคือ  จะยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดินไม่ได้  การที่ปล่อยให้มีการรวมเอาทางสาธารณประโยชน์ไว้ในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเป็นการไม่ถูกต้อง  เพราะเอกชนอาจอ้างหนังสือแสดงสิทธิใน ที่ดินนั้นแสดงความเป็นเจ้าของ  และอาจทำให้ประชาชนส่วนรวมขาดโอกาสที่จะใช้ทางสาธารณประโยชน์  หรืออาจมีกรณีพิพาทเกิดขึ้นได้
                 
สุดท้ายนี้ขอฝากข้อคิดหรือข้อแนะนำบางประการแก่ท่านเจ้าของที่ดินที่จะทำการจดทะเบียนแบ่งหักที่ดินของตนให้เป็นทางเดินหรือทางรถยนต์ไว้    ที่นี้ด้วยว่า  หากท่านเจ้าของที่ดินไม่มีความประสงค์จะให้    ทางเดินหรือทางรถยนต์ที่จะขอแบ่งแยกออกไปนั้น  เป็นทางสำหรับสาธารณชนใช้กันทั่วไป  โดยมีความประสงค์จะให้ใช้ประโยชน์เฉพาะบุคคลในครอบครัว    หรือผู้ที่ไปมาหาสู่กับเจ้าของที่ดินเท่านั้น  ทางนั้นก็ไม่ใช่ทาง  สาธารณประโยชน์  ที่ดินที่ขอแบ่งแยกออกเป็นทางในกรณีนี้ยังคงเป็นที่ดินของเจ้าของที่ดินอยู่เช่นเดิม  การขอแบ่งแยกก็ไม่ใช่การแบ่งหักที่สาธารณประโยชน์   การแบ่งแยกในกรณีนี้เรียกว่า   การแบ่งแยกในนามเดิม     กล่าวคือ  ทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินฉบับใหม่ให้แก่เจ้าของที่ดินสำหรับที่ดินส่วนที่เจ้าของประสงค์จะให้เป็นทางสำหรับใช้ส่วนบุคคล  โดยหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินนั้นยังคงมีชื่อเจ้าของที่ดินอยู่เช่นเดิม  เมื่อแบ่งแยกและออกโฉนดที่ดินแปลงแยกเสร็จแล้วจะมอบโฉนดที่ดินให้เจ้าของที่ดินไป  กรณีที่  เจ้าของที่ดินประสงค์จะแบ่งแยกที่ดินเพื่อใช้เป็นทางนี้  หากเจ้าของที่ดินไม่แจ้งความประสงค์ให้ชัดเจนว่า  ต้องการให้เป็นทางส่วนบุคคลไม่ใช่ทางสาธารณประโยชน์  อาจเกิดการเข้าใจผิดและจดทะเบียนให้ผิดไปในประเภท  “แบ่งหักเป็นที่สาธารณประโยชน์ และอาจจะทำให้เกิดปัญหาว่า การจดทะเบียนดังกล่าวถือว่าเจ้าของที่ดินได้แสดงเจตนาอุทิศที่ดินให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ อันมีผลทำให้ที่ดินตกเป็นสาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันแล้ว ดังนั้น ในการยื่นคำขอจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินเพื่อให้เป็นทาง เจ้าของที่ดินผู้ยื่นคำขอควรแจ้งให้ชัดเจนว่า  แบ่งเป็นทางส่วนบุคคล  ไม่ใช่การแบ่งหักเป็นทางสาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนทั่วไปด้วย                    

กลุ่มพิจารณาปัญหาข้อหารือและร้องเรียน
ส่วนมาตรฐานการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม  สำนักมาตรฐานการทะเบียนที่ดิน

กุมภาพันธ์  ๒๕๔๘