สาระน่ารู้เกี่ยวกับการขอรับมรดกที่ดิน

         

         สำนักมาตรฐานการทะเบียนที่ดิน  (สมท.)   ได้รับคำถามทาง   Internet   จากผู้เข้าเยี่ยมชม Web  ของกรมที่ดินเป็นจำนวนมาก   ว่าหากจะไปติดต่อขอรับโอนมรดกที่ดิน   ทั้งกรณีมรดกมีผู้จัดการมรดกและไม่มี
ผู้จัดการมรดก    จะไปติดต่อขอจดทะเบียนได้ที่ใด    เอกสารที่ควรนำไปมีอะไรบ้าง  การจดทะเบียนใช้เวลานานหรือไม่  เสียค่าธรรมเนียมอย่างไร  สำนักมาตรฐานการทะเบียนที่ดินจึงได้นำ “สาระน่ารู้เกี่ยวกับการขอรับมรดกที่ดิน” มาลงไว้ใน  Webpage  นี้ เพื่อท่านที่เข้าเยี่ยมชม Webpage  ของ  สมท.
จะได้ทราบหลักเกณฑ์และวิธีการขอรับมรดกที่ดิน รวมทั้งเข้าใจการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่  ดังนี้
          

        .  หลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการ  รวมทั้งเอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียน  การรับมรดกที่ดิน   กล่าวเป็นทางการคือ     การขอจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทางมรดก    มีบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายที่ดินบัญญัติกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการไว้รวม  ๒  วิธี  (สองมาตรา)  คือ   
               ๑.๑   การจดทะเบียนโอนมรดกตามมาตรา  ๘๑  แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน  เป็นการจดทะเบียนโดยผู้ได้รับมรดกเป็นผู้ขอจดทะเบียนโอนมรดกโดยตรง      ในการขอจดทะเบียนผู้ขอจะต้องนำหลักฐานหนังสือ แสดงสิทธิในที่ดิน   เช่น  โฉนดที่ดิน   กรณีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินอยู่กับบุคคลอื่น  พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินนั้นจากผู้ยึดถือไว้ได้   แต่เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือเรียกให้ผู้ยึดถือส่งหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแล้วผู้นั้นไม่ยอมส่ง พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะออกใบแทนให้แก่ผู้ขอได้  เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน   ผู้ขัดคำสั่งอาจมีความผิดทางอาญาเท่านั้น   กรณีนี้ควรเป็นเรื่องที่ผู้ขอจะต้องไปดำเนินการทางศาลให้ศาลมีคำสั่ง      หรือคำพิพากษาให้ผู้ยึดถือหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินส่งมอบแก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบแทนให้    นอกจากผู้ขอจะต้องนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินไปขอจดทะเบียนแล้ว  ผู้ขอจะต้องนำหลักฐานที่แสดงว่าเจ้ามรดกถึงแก่กรรม   และหลักฐานที่แสดงว่าผู้ขอเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกไปแสดงด้วย    หลักฐานดังกล่าว   เช่น   มรณบัตร     พินัยกรรม (ถ้ามี)  ทะเบียนบ้าน  บัตรประจำตัว   สูติบัตร   เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนแล้วเชื่อว่าผู้ขอเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกตามที่ขอแล้ว  พนักงานเจ้าหน้าที่จะทำการประกาศมรดกมีกำหนด  ๓๐ วัน     หากไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านภายในกำหนดเวลาที่ประกาศ    พนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะดำเนินการจดทะเบียนให้ได้   นอกจากนั้นในกรณีที่เป็นมรดกไม่มีพินัยกรรมและเจ้ามรดกมีทายาทซึ่งมีสิทธิรับมรดกหลายคน      หากทายาทบางคนจะขอจดทะเบียนรับมรดกทั้งหมด  ก็จะต้องนำทายาทที่แสดงไว้ในบัญชีเครือญาติทุกคนไปให้ถ้อยคำยินยอม    หรือนำหลักฐานแสดงว่าไม่รับมรดกของทายาทดังกล่าวนั้นไปแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในกำหนดเวลาที่ประกาศ     พนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะจดทะเบียนให้ตามที่ขอ      แต่ถ้าผู้ขอไม่สามารถนำทายาทที่แสดงไว้ในบัญชีเครือญาติทุกคนไปให้ถ้อยคำยินยอม  หรือไม่สามารถนำหลักฐานแสดงการไม่รับมรดกของทายาทดังกล่าวนั้น    ไปแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในกำหนดเวลาที่ประกาศได้    พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถจดทะเบียนให้ได้และต้องยกเลิกคำขอไป    หากผู้ขอจะขอให้จดทะเบียนโอนมรดกให้     พนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะจดทะเบียนโอนมรดกบางส่วนให้ไปเท่าที่ผู้ขอมีสิทธิ 
อยู่เท่านั้น
               ๑.๒   การจดทะเบียนโอนมรดกตามมาตรา  ๘๒  แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน    เป็นกรณีที่ทรัพย์มรดกที่จะขอจดทะเบียนโอนมีผู้จัดการมรดก  (ซึ่งอาจเป็นผู้จัดการมรดกที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมแต่งตั้งไว้ หรือ ผู้จัดการมรดกที่บรรดาทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียได้ร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งแต่งตั้ง)    และผู้จัดการมรดกจะขอโอนมรดกให้แก่ทายาท  ซึ่งจะต้องมีการจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกก่อน  ตามกฎหมายกำหนดให้จดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกได้เฉพาะทรัพย์ที่เป็นที่ดิน   และเป็นที่ดินที่มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแล้วเท่านั้น    การจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแบ่งเป็น   ๒   กรณี
คือ
                      (๑)  การจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม     ผู้ขอจะต้องนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินพร้อมด้วยหลักฐานการเป็นผู้จัดการมรดก  คือ  พินัยกรรมและหลักฐานอื่น ๆ เช่น   หลักฐานการตายของเจ้ามรดกไปแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้สอบสวน  ตรวจสอบหลักฐาน  
และเชื่อว่าผู้ขอเป็นผู้จัดการมรดกก็จะดำเนินการประกาศมีกำหนด  ๓๐  วัน   เมื่อครบกำหนด  ๓๐  วันแล้ว    ถ้าไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านก็จดทะเบียนต่อไปได้
                      (๒) 
การจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล  ผู้ขอจะต้องนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน  พร้อมด้วยหลักฐานการเป็นผู้จัดการมรดก  คือ    คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลที่แต่งตั้งผู้ขอเป็นผู้จัดการมรดกไปแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วเห็นว่าถูกต้อง ก็จะจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกให้โดยไม่ต้องทำการประกาศ                                                                           
                การจดทะเบียนผู้จัดการมรดกทั้งสองกรณี  ถ้าผู้ขอจดทะเบียนไม่สามารถนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินไปแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้  พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเรียกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินจากผู้ยึดถือ

   
            เมื่อได้มีการจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแล้ว    หากผู้จัดการมรดกจะขอจดทะเบียนโอนมรดกให้แก่ทายาท      พนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะจดทะเบียนให้ได้โดยไม่ต้องทำการประกาศมรดกเหมือนกับการที่ทายาทขอจดทะเบียนโอนมรดกโดยตรงตามมาตรา  ๘๑  แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน        ๒.  สถานที่ติดต่อขอจดทะเบียน    ผู้ที่มีความประสงค์ขอจดทะเบียนโอนมรดก    และ/หรือลงชื่อผู้จัดการมรดกในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนได้ที่  สำนักงานที่ดินท้องที่ที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่  เว้นแต่การจดทะเบียนที่ไม่ต้องมีการประกาศหรือรังวัด  เช่นการจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล หากผู้ขอไม่สะดวกในการเดินทางไปยื่นคำขอจดทะเบียน  ณ  สำนักงานที่ดินท้องที่ซึ่งที่ดินตั้งอยู่    สามารถไปยื่นคำขอจดทะเบียนได้ที่งานจดทะเบียนที่ดินกลาง   ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณกรมที่ดิน     หรือที่สำนักงานที่ดินจังหวัด   หรือ    สำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา   แห่งใดแห่งหนึ่งได้  
       
 ๓
ระยะเวลาการจดทะเบียน 
               ๓.
๑    กรณียื่นคำขอจดทะเบียน  ณ  สำนักงานที่ดินท้องที่ซึ่งที่ดินตั้งอยู่    และเป็นการจดทะเบียน ประเภทที่ไม่ต้องมีการประกาศ  เช่น   การจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล   เมื่อผู้ขอยื่นคำขอและ
แสดงหลักฐานต่างๆ ครบถ้วน  หากไม่มีข้อขัดข้องใดๆ แล้ว  พนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันนั้น
               ๓.
๒   กรณียื่นคำขอจดทะเบียน  ณ   สำนักงานที่ดินท้องที่ซึ่งที่ดินตั้งอยู่   และเป็นการจดทะเบียนประเภทที่ต้องมีการประกาศ  ๓๐  วัน   เช่น    ทายาทขอจดทะเบียนโอนมรดกโดยตรงตามมาตรา  ๘๑  แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน  หรือการจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม  เป็นต้น  เมื่อประกาศครบกำหนดไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน  พนักงานเจ้าหน้าที่จะทำหนังสือแจ้งผู้ขอให้ไปทำการจดทะเบียนภายใน  ๒ วัน  เมื่อผู้ขอไปติดต่อแล้วพนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันนั้น    
               ๓.
๓   กรณียื่นคำขอจดทะเบียนต่างสำนักงานที่ดินท้องที่   เมื่อเจ้าหน้าที่รับคำขอแล้วจะส่งเรื่องให้สำนักงานที่ดินท้องที่ที่รับจดทะเบียนดำเนินการตรวจสอบและจดทะเบียนตามอำนาจหน้าที่    ถ้าไม่มีเหตุขัดข้อง  พนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการจดทะเบียน     พร้อมกับส่งหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน   และเอกสารที่เกี่ยวข้องคืน สำนักงานที่ดินที่รับคำขออย่างช้าไม่เกิน  ๕  วันทำการนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง   และสำนักงานที่ดินที่รับคำขอจะทำหนังสือแจ้งผู้ขอให้ไปรับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินคืนภายใน   ๒  วัน
      
ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกและโอนมรดก   
               ๔.
๑  ค่าคำขอจดทะเบียน   แปลงละ  ๕  บาท
               ๔.
๒  ค่าจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดก   แปลงละ  ๕๐  บาท
               ๔.๓  ค่าจดทะเบียนโอนมรดก  ร้อยละ  ๒  จากราคาประเมินทุนทรัพย์   เว้นแต่เป็นการโอนมรดกระหว่างผู้บุพการีกับผู้สืบสันดาน   หรือระหว่างคู่สมรส  ร้อยละ  ๐.๕  (ร้อยละ  ๕๐  สตางค์)   
จากราคาประเมิน   ทุนทรัพย์
               ๔.๔  ค่ามอบอำนาจ (ถ้ามี) 
เรื่องละ  ๒๐  บาท
               ๔.
๕  ค่าประกาศ  ในกรณีที่ต้องมีการประกาศ  แปลงละ  ๑๐  บาท  
               ๔.๖   ค่าปิดประกาศ   ในกรณีที่ต้องมีการประกาศ  ให้แก่ผู้ปิดประกาศ  แปลงละ  ๑๐ บาท   ๔.
๗  ค่าพยาน  ในกรณีที่ผู้ขอมีความประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ลงนามในฐานะพยานไว้เป็นหลักฐานในคำขอ  ให้แก่พยาน คนละ ๑๐ บาท
           ค่าธรรมเนียมตามข้อ  ๔.๑ – ๔.๕   เรียกเก็บตามกฎกระทรวง   ฉบับที่  ๔๗  (พ.ศ. ๒๕๔๑)   ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน  พ.ศ. ๒๔๙๗    ส่วนข้อ ๔.๖  และ ๔.๗  เรียกเก็บตามกฎกระทรวง  ฉบับที่  ๔๗

(พ.ศ. ๒๕๔๑)    ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน  พ.ศ. ๒๔๙๗   ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง  ฉบับที่  ๔๘  (พ.ศ. ๒๕๔๒) ฯ 
          หากท่านมีข้อสงสัยประการใดหรือต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่ม  สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานที่ดินทุกแห่ง    หรือที่สำนักมาตรฐานการทะเบียนที่ดิน   กรมที่ดิน    หมายเลขโทรศัพท์  ๐ ๒๒๒๒ ๖๑๙๖, 
๐ ๒๖๒๒ ๓๔๗๒
                                  

                                         กลุ่มพิจารณาปัญหาข้อหารือและร้องเรียน                  
                   ส่วนมาตรฐานการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม     สำนักมาตรฐานการทะเบียนที่ดิน               
                                                    มกราคม   ๒๕๔๘